ขออนุญาตผู้เขียนแล้วครับ
บทความพิเศษ
ALFA-ROMEO “GTA” – Giulia 105 Coupe
For only “Alfissmo” : by only Alfisti
นักเลง Alfa ตัวจริงถ้าพูดถึงคำว่า “GTA” เขาจะมองข้ามตัว 156 GTA ไปเลย เพราะถือว่ายังไม่ได้ฝากผลงานจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การแข่งขันได้ยืนยาวต่อเนื่อง และมีความแรงของเครื่องยนต์อยู่ในระดับ “Outstanding” เหมือน “โคตรพ่อ” หรือ Forefather ของมันซึ่งก็คือตัว Giulia Coupe “GTA” อันลือลั่น ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีอยู่ 3 รุ่นด้วยกันคือ “GTA-Junior”, “GTA” เฉยๆ และ “GTAm” ทั้งหมดแตกซับสปีชี่มาจากตระกูล “Giulia” ซึ่งมีทั้ง 4 ประตูซีดาน กับ 2 ประตู Coupe เจ้า GTA ทั้งหลายรวมทั้ง “GT 1600”, “GT 1750”, “GTC”(เปิดประทุน) และ GT Veloce 2000 นั้นเป็นประเภท 2 ประตูออกแบบโดย “Giorgio Giugiaro” ตอนเพิ่งเริ่มโด่งดัง โดยในตอนนั้นประจำอยู่ที่สำนัก Bertone แห่งอิตาลี
GTA ในปลายยุค 60 ต่อต้นยุค 70 นั้นคว้าชัยชนะมามากมาย แต่ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์รถแข่งคือ การครองตำแหน่งชนะเลิศประเภทยูโรเปี้ยน ทัวริ่งคาร์ ต่อเนื่องจากปี 1966, 1967, 1969, 1970, 1971 และ 1972 เว้นเพียง 1968 ปีเดียว ซึ่งพูดได้เลยว่าตัว 156 GTA ไม่มีทางทำได้ขนาดนี้!!
ตำนาน Alfa ตระกูล “Giulia” 105
Giulia เป็นรถที่ Alfa พัฒนามาจากตัว Giulietta ที่ขายอยู่ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มแรกออกมาเป็น 4 ประตูซีดาน 1,600 ซีซี. ทวินแค็มทวินคาร์บในปี 1962 ในสมัยโน้นเครื่องตัวนี้ถือว่าล้ำหน้ามาก เพราะเป็นอลูมิเนียมทั้งฝาและบล็อค ครอสโฟลว์, หัวเทียนอยู่กึ่งกลางห้องเผาไหม้ ใช้วาล์วตัวใหญ่จนแทบจะขยายอะไรไม่ได้ ได้มาเบาะๆ 108 แรงม้า DIN เมื่อ 40 ปีก่อนพอดี Alfa ใช้ระบบดิสค์เบรค 4 ล้อ เกียร์ 5 สปีด ช่วงล่างหน้าแบบปีกนกสองชั้น ส่วนข้างหลังเป็นคานแข็งและเทรลลิ่งอาร์ม ซึ่งตรงนี้ใช้ระบบเดียวกับ Giulietta แต่พัฒนาให้ดีขึ้น
หมายเหตุ : Alfa ใช้จุดขายเรื่องสมรรถนะของรถ เจาะตลาด Middle-class Sport Car ได้เป็นอย่างดีในพิกัด 1,600 ซีซี. ต่อมา 4 ปีให้หลังเยอรมันจึงได้ออก BMW 1602 มาแต่ในแง่เทคโนโลยีแล้วยังไม่ถือว่าเทียบได้กับ Alfa Giulia
หนึ่งปีถัดมา Giulia Coupe จึงได้ออกมาภายใต้กระดอง 2 ประตูแชร์แพลทฟอร์มเดิมที่จุย เจียโร่ปล่อยออกมาเต็มฝีมือจึงเป็นที่ซี้ดซ้าดมาก แม้ทุกวันนี้เจอสภาพดีๆ ก็เรียกว่ายังสวยหยด เป็นที่ยอมรับในบรรดานักเลงทั่วโลก และผลิตต่อเนื่องมาจนถึงปี 1975 ซึ่งในช่วงสิบกว่าปีนี้ก็มีโมเดลแตกย่อยเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่มาตลอด ซึ่งนักเลง Alfa จะรู้ดี ภายนอกเครื่องก็เช่น เปลี่ยนฝาครอบวาล์ว เปลี่ยน Font/Type ของชื่อบนฝาวาล์ว, กำลังอัดมีทั้ง 9:1, 9.5:1 จนถึง 10:1 คาร์บูเรเตอร์มีทั้ง Weber และ Dellorto ซึ่งใช้เบอร์ 40 รุ่น DCOE และ DHLA จนถึงหัวฉีด 1,300 จนถึง 2,000 ต่างกันที่ Jet ภายใน, องศาแค็มชาฟท์และลิฟท์วาล์วก็ต่างกันไป หัวเทียนที่ใช้ก็ต่างกันไป บางรุ่นแนะให้ใช้ Lodge ทั้ง Gold และ Silver บางรุ่นแนะให้ใช้ Champion หรือ Bosch ได้ ฯลฯ เอาเป็นว่ามีเยอะแยะไปหมดและปรับปรุงมาตลอดสิบกว่าปีก็แล้วกัน
Giulia Coupe ที่ออกมารุ่นแรกนั้นไม่ใช่ตัว 1,300 อย่างที่หลายคนเข้าใจแต่เป็น 1,600 ซีซี. ต่อมาในปี 1966 หลังจากที่ปรับแต่งให้แรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น 115 แรงม้า DIN ก็ได้เปลี่ยนชื่อเล็กน้อยเป็น 1600 Sprint GT Veloce (Veloce แปลว่า “เร็ว”) จากนั้น “ได้ใจ” ขยายเป็น 1,750 (จริงๆ แล้ว 1,779 ซีซี.)ในปี 1968 กลายเป็น 1750 GT Veloce กับ 122 แรงม้า DIN และหดเป็น1,300 ซีซี. กลายเป็น GT Junior วางตลาดในปีนี้เอง เครื่องตระกูลนี้ยืดช่วงชักเป็น 88 มม. กลายเป็นอันเดอร์สแควร์ แบบ 84x88 สุทธิออกมา 1,962 ซีซี. อยู่ในพิกัด 2,000 ภายใต้ชื่อ 2000 GT Veloce ซึ่งมีตั้งแต่ 130-150 แรงม้า DIN แล้วแต่ว่าอยู่ประเทศแถบไหนได้สเป็คแบบไหนโชคดีได้ตัวหัวฉีดไปใช้ ตัว 2000 นี้เองที่อย่าได้ไปแหยมกับมันในสมัยที่ “อ.ใหญ่” แห่งบก.เราเป็นวัยรุ่น ส่วน “อ.เล็ก” ยังไม่เกิด
จุดกำเนิด “GTA”
ช่วงปี 1966 นั่นเองที่ Alfa คันไม้คันมือ อีกทั้งเห็นว่าตัวเองได้เปรียบคู่แข่งเรื่องแบบของเครื่องยนต์ในขณะที่คู่แข่งไม่เป็น OHV ก็ OHC เช่น Ford Cortina, BMW ตระกูล 02 เลยจะทำตัวแข่งพิเศษเพื่อร่วมในการแข่งทัวริ่งคาร์ระดับนานาชาติ ซึ่งกำหนดว่าทางโรงงานต้องผลิตรถเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ไม่ใช่ว่าทำมาเพียง 20-30 คันแล้วจะเอามาเข้าแข่ง Alfa จึงต้อง “ทำมือ” กับบางรุ่นของ Giulia Coupe โดยจับเอาตัว 1,600 มารื้อตัวถังตรงส่วนฝากระโปรงหน้า-หลังกับบังโคลนขอบล้อแล้วเคาะอลูมิเนียมใส่เข้าไปเพื่อลดน้ำหนัก นำเครื่องมาโมฝาใหม่กลายเป็นทวินสปาร์คและปรับแต่งท้วมๆ จาก 115 เลยกลายมาเป็น 170 แรงม้า DIN ในบัดดล พร้อมเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ให้ชิดขึ้นไปอีก กลายเป็น GTA (A นี้มาจากคำว่า Alleggerita แปลว่า ‘เบา’ ในภาษาอิตาลี)
อะไรคือ GTAm
เข้าไปลึกๆ กับ Alfa เราก็จะเจอประเภท GTAm, GTC โผล่มาทักทายบ่อยขึ้น มันเป็นตัวพิเศษที่ทำขึ้นมาเจาะตลาดนักเล่นรถแข่งในอเมริกาโดยเฉพาะ Am จึงเป็นคำย่อของ America เริ่มส่งเข้าไปขายครึ่งแรกตอนปี 1970 แต่ตัวถังเป็นเหล็กเหมือน Giulia Coupe ทั่วไปเพราะกฎหมายเขาคุมตรงนี้ ล็อตแรกๆ วางเครื่อง 1,750 ก่อนแต่แต่งกันเกือบสุด พวกไอ้กันยังรู้สึกว่าพิกัดมันเบาไปไม่รู้เรื่อง ล็อตต่อมาจึงระเบิดไปเป็นเครื่อง 2,000 หัวฉีด พร้อมม้ากว่า 200 DIN จากโรงงานในอิตาลี (เครื่องตัวนี้ความจุสุทธิ 1,985 ไม่ใช่ 1,962 เหมือนที่ขายทั่วโลก)
ตะกี้ที่พาดพิงไปถึงตัว 1300 GT Junior ที่ออกมาขายในบางตลาด เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น บ้านเราและอื่นๆ ว่าออกมาหลังตัว 1600 นั้นก็ยังอุตส่าห์มีการเอาไปทำเป็น GTA กับเขา โดยรีดแรงม้าจากขนาดสุทธิ 1,290 ซีซี.ของมันปรากฏว่าขับมัน รอบจัด เพราะเป็นโอเว่อร์สแควร์ สูบโตชักสั้นปั่นจี๋ๆ แค่ 8 วาล์วมันอั้นๆ ในต้นยุค 70 จึงใส่ฝา 16 วาล์ว ทวินสปาร์ค หัวฉีดมันซะเลยโดยสำนักแต่ง Autodelta เสียดายที่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดเรื่องแรงม้าของมัน
พูดไปเยอะแล้วเบลอ ลองดูตารางนี้ประกอบอาจจะเห็น “โครง” ของการผลิต Alfa Giulia Coupe ดีขึ้น
รุ่น ปีที่ผลิต ความจุ(ซีซี.) ประเภทที่เข้าแข่ง
Giulia Sprint GT และ GT Veloce 1963-1967 1,570 FIA ทัวริ่งคาร์กรุ๊ป 1
Giulia Sprint GTA 1966-1969 1,570 FIA ทัวริ่งคาร์กลุ่ม 2 จนถึงปี 1969 และเป็นกรุ๊ป 4 นับจากปี 1970 SCCA B ซีดาน, Trans Am Under 2.01
GT 1300 Junior 1967-1975 1,290 FIA ทัวริ่งคาร์ กรุ๊ป 1
Giulia Sprint GTA
1300 Junior 1968-1975 1,270 FIA ทัวริ่งคาร์ กรุ๊ป 2
1750 GT Veloce 1968-1971 1,779 FIA ทัวริ่งคาร์ กรุ๊ป 2 SCCA B ซีดาน, Trans Am Under 2.51
2000 GT Veloce 1971-1975 1,962 FIA ทัวริ่งคาร์ กรุ๊ป 2 SCCA B ซีดาน
GT American 1970-1972 1,985 FIA ทัวริ่งคาร์ กรุ๊ป 2
ย้อนบรรยากาศในสนามแข่ง
เกียรติภูมิของ Alfa รุ่นเก่านั้นได้กล่าวไปแล้วว่าฝังใจคนยุคนั้นมากคือ ในสนามยุโรปนี่มันได้อันดับหนึ่งถึง 6 ปีจาก 1966-1972 เว้น 1968 ปีเดียว มีทั้งทีมโรงงานและนักแข่งอิสระ เล่นกันไม่ใช่เฉพาะยุโรปและอเมริกาแต่กระจายถึงเซาท์อาฟริกา, ออสเตรเลีย, เซาท์อเมริกา ไม่ใช่เฉพาะทางเรียบแต่เขาเล่นกันในแรลลี่, แข่งขึ้นเขาด้วย (คล้ายที่นครสวรรค์เมื่อสามสิบปีก่อนซึ่งมี Alfa ลงกับเขาเหมือนกัน)
เราพูดถึงมันในยุโรเปี้ยนทัวริ่งคาร์ไปแล้วข้ามมาดูที่อเมริกาดีกว่าโดยเฉพาะ Trans American Championship Alfa Giulia Coupe ไปได้ตำแหน่งชนะเลิศประเภทรถแข่งจากโรงงานต่ำกว่า 2,000 ซีซี.ถึง 2 ปีคือ 1966 และ 1970 ส่วนประเภทบุคคลนั้นผู้ขับ Alfa ได้รับรางวัล SCCA ประเภทรถซีดานถึง 5 ปีคือ 1966, 1967, 1969, 1670 และ 1971 ในปีแรกครั้งแรกที่ลงแข่งในรัฐแมรี่แลนด์ที่ Marlboro Race way นั้นจัดว่าไม่เบาทีเดียวเพราะลักษณะสนามแข่งแบบวิ่งวนในกะละมังแบบไอ้กันมันไม่ใช่สไตล์ปราดเปรียวเลี้ยวลดบดบี้ในสนามคดเคี้ยวอย่างยุโรปที่ Alfa คุ้นเคย คู่แข่งที่เป็นรถอเมริกันคันใหญ่เครื่องโตนั้นมีทั้ง “Dodge”, “Ford”, “Chevrolet” และ “Plymouth”ยกเว้นบางสนามที่มีรถพิกัดใกล้เคียงกันจากยุโรปมาร่วมแจมเช่น “Ford Cortina”, “BMW” และที่สำคัญ Porsche 911 ซึ่งไม่รู้ว่าเขาจัดให้มาเป็นซีดานได้ยังไง
ตัว Porsche ที่เริ่มเข้ามาร่วมแข่งในปี 1967 นี่เองทำให้ Alfa กินตำแหน่งหัวแถวยากขึ้นเพราะเสียเปรียบที่ชั้นของรถและการออกแบบ ส่งผลให้ชวดตำแหน่งแชมป์ในปีถัดมาไป ต่อมาได้เปลี่ยนกฎให้ Porsche 911 ไปอยู่อีกประเภทหนึ่ง Alfa จึงกลับมาครองแชมป์อีกครั้งจนถึงปี 1971 ซึ่งก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับรถเครื่อง 2,000 ซีซี. ที่ต้องปีนชั้นขึ้นไปเบียดกับคู่แข่งที่เครื่องใหญ่กว่ากันเหลายๆ เท่าตัว
จุดเด่นของ Alfa 105 รุ่นเก่า
- เครื่องทวินแค็มทวินคาร์บตัวนี้ถือว่ามีแรงม้าต่อซีซี.สูงมากในยุคนั้น จัดว่าเป็นบล็อคที่ “คลาสสิค” มาจนทุกวันนี้
- อัตราเร่งดีมาก แรงบิดที่สูงช่วย “ดึง” วืดตามคันเร่งตั้งแต่รอบต่ำ
จุดด้อยของมัน
- อันเดอร์สเตียร์เวลาเข้าโค้งแคบๆ
- กันสะเทือนหลังเป็นเพลาแข็งแทนที่จะอิสระ
ในบ้านเรามี Alfa ตระกูล Guilia 4 ประตูเน่าๆ เยอะเพราะหุ่นเชยคนทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่รักมัน ผิดกับตัว 2 ประตู Coupe ที่ส่วนใหญ่จะเงาวับ จอดตามอู่และบ้านมากกว่าจะนำมาวิ่งบนถนน ตัว 2000 GT Veloce แท้ๆ เดิมๆ ว่ากันที่ 4-5 แสนขึ้นเป็นเรื่องปกติ Alfissimo บอกไม่เสียดายเงินแค่นี้ไม่ตายหาใหม่ได้ ส่วนตัว GTA นั้นเท่าที่ทราบ “ไม่มี” ในบ้านเรา หากท่านใดมีกรุณาบอกมาด้วย จะไปขอลูบคลำถึงบ้าน…ขอบคุณ